ศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้ เงินบาทอ่อนค่า ขณะที่หุ้นไทยร่วงลงตามปัจจัยลบทั้งในและต่างประเทศ จับตาปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นการเมืองในประเทศ การพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19
วันที่ 27 กันยายน 2563 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่า เงินบาทลดช่วงอ่อนค่าบางส่วน หลังแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบเกือบ 2 เดือนที่ 31.67 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเกือบตลอดสัปดาห์สอดคล้องกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินในภูมิภาค ประกอบกับตลาดรอติดตามปัจจัยทางการเมืองในประเทศอย่างใกล้ชิด ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลก หลังข้อมูล PMI เดือนก.ย. ของสหรัฐฯ และยูโรโซนมีสัญญาณอ่อนแอ รวมถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรป อย่างไรก็ดีกรอบการอ่อนค่าของเงินบาทจำกัดลงบางส่วนในช่วงปลายสัปดาห์ ขณะที่ตลาดรอติดตามหลายปัจจัยสำคัญในสัปดาห์ถัดไป
ในวันศุกร์ (25 ก.ย.) เงินบาทอยู่ที่ระดับ 31.63 เทียบกับระดับ 31.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในวันศุกร์ก่อนหน้า (18 ก.ย.)
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.ย.-2 ต.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทที่ 31.30-31.80 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ การดีเบตครั้งแรกของคู่ชิงประธานาธิบดีสหรัฐฯ และการเจรจาดีล BREXIT ระหว่างยุโรปและอังกฤษ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตร การจ้างงานภาคเอกชน ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนก.ย. ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย รายได้/รายจ่ายส่วนบุคคลและ Core PCE Price Index เดือนส.ค. รวมถึงตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/63 (final) นอกจากนี้ตลาดยังรอติดตามดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคบริการเดือนก.ย. ของจีน และปัจจัยทางการเมืองของไทยด้วยเช่นกัน
ส่วนความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทย หุ้นไทยปรับตัวลงตลอดสัปดาห์ โดยดัชนี SET ปิดที่ระดับ 1,244.94 จุด ลดลง 3.37% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 47,056.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 1.96% จากสัปดาห์ก่อน มาปิดที่ 316.67 จุด
หุ้นไทยปรับตัวลงตามแรงขายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันและต่างชาติ ท่ามกลางความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ อาทิ สถานการณ์การเมืองในประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย สถานการณ์โควิด-19 ในต่างประเทศที่ยังคงรุนแรงและอาจส่งผลให้บางประเทศต้องกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ขณะเดียวกันหุ้นกลุ่มที่กดดันตลาดหุ้นไทยมากที่สุดในสัปดาห์นี้ ได่แก่ กลุ่มพลังงาน กลุ่มธนาคาร และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง
สำหรับสัปดาห์ถัดไป (28 ก.ย. – 2 ต.ค.) บริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย จำกัด มองว่า ดัชนีหุ้นไทยมีแนวรับที่ 1,235 และ 1,220 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,260 และ 1,270 จุด ตามลำดับ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ประเด็นการเมืองในประเทศ การพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2/63 รายได้และรายจ่ายส่วนบุคคลเดือนส.ค. รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต และตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนก.ย. ขณะที่ ปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.ย. ของจีน ญี่ปุ่นและยูโรโซน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกเดือนส.ค. ของญี่ปุ่น รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนก.ย. (เบื้องต้น) ของยูโรโซน
September 27, 2020 at 08:14AM
https://ift.tt/333wlxA
เงินบาทอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า การเมืองในปท.-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/345xfZf
Bagikan Berita Ini
0 Response to "เงินบาทอ่อนค่า จับตาสัปดาห์หน้า การเมืองในปท.-มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment