คอลัมน์ จับกระแสตลาด
ช็อกวงการไม่น้อย สำหรับกระแสข่าวความเคลื่อนไหวการขายสิทธิ์แฟรนไชซี ร้านเคเอฟซี ในประเทศไทย ของ “เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์” หรือ อาร์ดี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของแฟรนไชซี เคเอฟซี ในประเทศไทย
หลังจากเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักข่าวบลูกเบิร์ก รายงานว่า เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ แฟรนไชซี หรือ อาร์ดี (RD) ผู้บริหารร้านไก่ทอด เคเอฟซี ที่มีสาขาประมาณ 200 สาขา อยู่ระหว่างการประสานงานกับบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน และกำลังศึกษาแนวทางการขายสิทธิ์แฟรนไชส์ ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
อีกด้านหนึ่งมีคำถามเกิดขึ้นตามมามากมายถึงต้นสายปลายเหตุของการจะขายสิทธิ์ร้านไก่ทอดแบรนด์ดังกล่าว “ว่าเป็นเพราะ…ตลาดแข่งขันสูง ? หรือ…ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ? ฯลฯ
จากการสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยัง “ยัม เรสเทอร์รองตส์” ในฐานะเจ้าของแฟรนไชส์ แต่ก็ยังไม่มีคำชี้แจง
ตลาดโต-แข่งขันสูง
หากย้อนกลับไป เมื่อปลายปี 2561 “ประชาชาติธุรกิจ” ได้มีโอกาสร่วมสัมภาษณ์ถึงทิศทางของ “เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์” หรืออาร์ดี ในโอกาสเพิ่งฉลองครบรอบ 2 ปี ในการเป็นแฟรนไชส์ “เคเอฟซี”
เมื่อครั้งนั้น “แอนดรูว์ นอร์ตัน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด หรืออาร์ดี มั่นใจว่าธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทยยังมีโอกาสที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อีกด้านหนึ่งตลาดฟาสต์ฟู้ดมีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากมีผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาทำธุรกิจร้านอาหาร ส่งผลให้ผู้บริโภคมีทางเลือกในการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแผนจะลงทุนเพื่อขยายสาขาเพิ่มอีก 16 สาขา โดยเน้นเขตกรุงเทพฯ ภาคใต้ และภาคอีสาน จากเดิมที่มีสาขาอยู่ประมาณ 154 สาขา หรือรวมประมาณ 170 สาขา
อย่างไรก็ตาม จากความต้องการของผู้บริโภคที่มีความหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และรองรับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บริษัทจึงทุ่มงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อรีโนเวตสาขาเดิมให้มีสีสันและทันสมัย เพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่รวมทั้งมุ่งขยายสาขาใหม่ โดยเน้นเขตกรุงเทพฯ ภาคใต้ และภาคอีสาน
“ในโอกาสการฉลองครบรอบ 2 ปี ของการดำเนินธุรกิจในฐานะแฟรนไชส์ของเคเอฟซี เราได้เปิดสำนักงานแห่งใหม่เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงานของพนักงาน และยังคงมุ่งมั่นในการขยายธุรกิจร้านเคเอฟซี เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาร์ดีกล่าวเมื่อครั้งนั้นหลังเวลาผ่านไปไม่ถึง 2 ปี ก็ปรากฏข่าวว่า อาร์ดีเตรียมจะขายสิทธิ์ดังกล่าว !
“อาร์ดี” ขาดทุนสะสมหนัก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด หรืออาร์ดี จดทะเบียนเมื่อ 11 มิถุนายน 2558 ด้วยทุนจดทะเบียน 400 ล้านบาท มีกรรมการ ประกอบด้วย นายเคนจิ โมริ นายแอนดรูว์ เจมส์ นอร์ตัน และนายโอโนะ เทตซูโร มีผู้ถือหุ้น (ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2563) ประกอบด้วย เยลโลว์ พาล์ม จำกัด สัญชาติไทย 51% แบมบู (ไทยแลนด์) โฮลดิ้ง พีทีอี.แอลที สัญชาติสิงคโปร์ 49%
ล่าสุด จากการตรวจสอบผลการดำเนินงานของอาร์ดี ที่แจ้งต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562 บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นท์ มีตัวเลขการขาดทุนสะสม 445.23 ล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 มียอดขาดทุนสะสม 318.23 ล้านบาท จากปี 2560 ที่ตัวเลขการขาดทุนสะสมมีประมาณ 225.27 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงาน ปี 2562 มีรายได้จากการขายและบริการ ประมาณ 4,302.77 ล้านบาท ขาดทุน 127 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้จากการขายและบริการ 3,988.90 ล้านบาท ขาดทุน 92.95 ล้านบาท ขณะที่ปี 2560 มีรายได้จากการขายและบริการ 3,592.90 ล้านบาท ขาดทุน 144.50 ล้านบาท
ธุรกิจไก่ทอด 1.74 หมื่นล้านระอุ
ขณะที่มีกระแสข่าวการขายแฟรนส์ไชส์ของอาร์ดีดังกล่าวอีกด้านหนึ่ง ที่ผ่านมา แฟรนไชซี 2 รายใหญ่ สายป่านยาว-ทุนหนา “ซีอาร์จี” ของกลุ่มตระกูลจิราธิวัฒน์ และ “เดอะ คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย” หรืออีกนัยหนึ่ง บริษัทในเครือไทยเบฟฯ ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ทุ่มเม็ดเงินกว่า 1.13 ล้านบาท ซื้อสิทธิ์การเป็นแฟรนไชส์จาก “ยัม เรสเทอร์รองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)” เมื่อช่วงปี 2560 และเริ่มบริหารสาขาร้านเคเอฟซีประมาณ 240 สาขา ก็ยังเดินหน้าขยายสาขาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา
ล่าสุด เมื่อสิ้นไตรมาส 1/2563 ซีอาร์จี มีร้านเคเอฟซีมากกว่า 281 สาขา เช่นเดียวกับ เดอะ คิว เอสอาร์ฯ ที่มีร้านเคเอฟซี เพิ่มเป็นประมาณ 285 สาขา
นอกจากร้านไก่ทอดเคเอฟซี ที่เป็นเจ้าตลาดด้วยส่วนแบ่งการตลาดราว ๆ 65% ด้วยมูลค่าตลาดที่มีมากกว่า 1.47 หมื่นล้านบาท และเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีไก่ทอดแบรนด์ดังรายใหม่ ๆ ทยอยกระโดดเข้ามาแย่งเค้กก้อนดังกล่าวเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวของ “บอนชอน” แบรนด์ดังจากเกาหลี ภายใต้การนำทัพของบริษัท ไมเนอร์ ฟู้ด ยังประกาศที่จะเดินหน้าลงทุนขยายสาขา แผนจะเปิดเพิ่มในครึ่งปีหลังอีกประมาณ 17 สาขา จากปัจจุบันมีประมาณ 50 สาขา โดยจะเน้นการเปิดสาขาในต่างจังหวัดเป็นหลัก
ขณะที่ “เท็กซัส ชิกเก้น” แบรนด์ดังจากอเมริกา ภายใต้การการบริหารของบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด ปัจจุบันมี 79 สาขา และมีแผนจะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขา ภายในสิ้นปีนี้ นอกจากนี้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็เพิ่งจะมีการปรับภาพลักษณ์ร้าน โดยใช้สาขาสีลมเป็นต้นแบบ
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และทางการมีมาตรการ “ล็อกดาวน์” ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก็ทำให้การขยายสาขาของแทบทุกแบรนด์ชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการหลาย ๆ ค่ายต้องหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการบริหารการจัดการต้นทุนมากขึ้น เนื่องจากการเปิดให้บริการมีข้อจำกัด โดยเฉพาะเรื่องของ social distancing ที่ทำให้พื้นที่ขายของแต่ละสาขาลดลงโดยเฉลี่ยประมาณ 50%
นี่คือภาพความเคลื่อนไหวของ “ตลาดไก่ทอด” 1.47 หมื่นล้านที่เกิดขึ้น
ต้องติดตามกันต่อไป
July 16, 2020 at 07:24AM
https://ift.tt/32nxmR6
ธุรกิจไก่ทอด 1.47 หมื่นล้านระอุ RD ถอดใจขายสิทธิ์แฟรนไชส์ KFC - ประชาชาติธุรกิจ
https://ift.tt/345xfZf
Bagikan Berita Ini
0 Response to "ธุรกิจไก่ทอด 1.47 หมื่นล้านระอุ RD ถอดใจขายสิทธิ์แฟรนไชส์ KFC - ประชาชาติธุรกิจ"
Post a Comment